Pages

Tuesday 26 May 2015

[Film/Book] Thoughts on "Confessions (Kokuhaku)"

คำเตือน:

- มี SPOILERS แต่ส่วนใหญ่ที่อ้างอิงลงรายละเอียดก็เพียงส่วนแรก ๆ ของเรื่อง
- เป็นรีวิวชิว ๆ มีอะไรติดขัดก็ทักได้ อย่างซีเรียสกันไป 55


เกริ่นนำ:

Confessions เป็นหนังสือเขียนโดยมินาโตะ คานาเอะ ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 2008  นับเป็นหนังสือขายดีระดับนานาชาติ และได้รับการทำออกมาเป็นหนังซึ่งฉายออกโรงโรงในปี 2010  ทั้งตัวละครในหนังสือและวิธีการนำเสนอตัวละครเหล่านั้นในหนังก็มีฟีลเฉพาะของญี่ปุ่นเอามาก ๆ  คงเพราะสภาพแวดล้อมเป็นสังคมในญี่ปุ่นโดยตรงด้วย  Confessions นับว่าเป็นเรื่องที่จขบ.ประทับใจ แม้บางจุดในหนังอาจจะนำเสนอออกมาในลักษณะที่ชวนให้ฟีลดราม่า โดยที่พอพิจารณาดูก็ออกจะดูหลุด ๆ บ้าง และในหนังสือก็มีบางจุดที่คล้ายจะสื่อมาในเชิงสัญลักษณ์และพยายามทำให้มันสมเหตุสมผลไปพร้อม ๆ กันแต่ยังดูขาด ๆ เกิน ๆ อยู่บ้าง แต่โดยรวมก็นับว่าเรียบเรียงเนื้อเรื่องออกมาดี น่าประทับใจ

จขบ.มองว่าหนังต่างจากหนังสือไม่มากนัก แต่หนังพยายามจะทำให้เหตุการณ์ของตัวละครทุกตัวเชื่อมโยงกันมากขึ้น (ประมาณว่า อ้อ มันมาคลิกลงล็อคกันอย่างนี้เอง) ในขณะที่หนังสือจะปล่อยให้เหตุการณ์เกิดจากตัวตนของตัวละครอย่างเป็นไปธรรมชาติกว่า (แบบว่า เออ เจ้านี่จะทำแบบนี้ก็ไม่แปลก และเข้าใจว่าใส่เหตุการณ์นี้มาทำไม)

ทั้งนี้ ปกติจขบ.ไม่อินกับพล็อตที่มีแรงผลักเป็นการแก้แค้นเท่าไร (ประมาณว่าเข้าถึง แต่จากประสบการณ์และแนวคิดชีวิตส่วนตัวแล้วไม่อาจเข้าใจได้อย่างครอบคลุม ก็เลยไม่ค่อยอินนั่นเอง...) แต่ Confessions จะเรียกว่าเป็นข้อยกเว้นก็ได้ (หรืออาจเพราะปกติจขบ.ไม่อินกับพล็อตแก้แค้น เลยไม่ค่อยได้เปิดหูเปิดตากับแนวนี้จนไม่เจอพล็อตแก้แค้นดี ๆ ก็ไม่รู้)

Entry นี้จะเอ่ยถึงเนื้อเรื่องรวม ๆ ก่อนจะกล่าวถึงหนังและหนังสือ


เนื้อเรื่อง:

โมริกุจิ อาจารย์ประจำชั้นหญิงคนหนึ่ง พูดกับนักเรียนในชั้น (ที่ยังอยู่ในวัยราว ๆ สิบสามปี) ว่าวันนี้คือคลาสสุดท้ายของนางแล้ว เพราะนางกำลังจะลาออกจากการเป็นอาจารย์ ว่าแล้วก็เอ่ยถึงลูกสาว (มานามิ) ของนางที่จมน้ำตายในสระของโรงเรียน ตำรวจสรุปว่ามานามิเดี้ยงไปด้วยอุบัติเหตุ แต่โมริกุจิบอกว่าคนที่ฆ่าคือนักเรียนสองคนในชั้นของนางต่างหาก นางเอ่ยถึงเด็กสองคนนี้ว่าเด็กชาย A กับเด็กชาย B (แต่นางก็ดูไม่ได้ตั้งใจจะปิดบังตัวตนของสองคนนี้เท่าไร เพราะประโยคแรก ๆ ที่นางเอ่ยถึงเด็กชายสองคนนี้... ก็เป็นคนที่ทุกคนในชั้นก็รู้ว่าใคร ฮา) เด็กชาย A เป็นเด็กท็อปของห้อง ส่วนเด็กชาย B ก็คนหัวไม่ดีคนหนึ่งที่ไปก่อปัญหาจนโดนลงโทษให้ขัดสระน้ำน่ะ แล้วนางก็เล่าว่าพวกเขาฆ่าลูกสาวของนางอย่างไร

แล้วนางก็บอกให้ทุกคนในชั้นรู้ด้วยว่า นมที่พวกเธอทุกคนดื่มหมดกันไปเมื่อครู่ ครูฉีดเลือดของแฟนเก่าที่เป็น HIV (aka. พ่อของมานามิ) ลงไปในกล่องนมของเด็กชาย A กับเด็กชาย B ล่ะ (ทั้งนี้นางก็บอกนะว่านางกับลูกของนางไม่ได้ติดเชื้อมาด้วยหรอก แถมบอกด้วยว่าเอดส์น่ะไม่ได้ติดกันง่าย ๆ /แต่ดูไม่มีใครเก็บส่วนนี้ไปเข้าหัวสักเท่าไร ออกจะเพิกเฉยต่อความเป็นจริงนี้ด้วยซ้ำ) นางทำไปเพราะกฎหมายคงไม่ลงโทษเด็กอายุสิบสามปีได้สะใจนางเพียงพอ--- /อะแฮ่ม

และแล้วเรื่องราวการแก้แค้นของอจ.สาวก็เริ่มต้นขึ้น...


Film vs. Book: Confessions (2010), directed by Tetsuya Nakashima + Confessions (2008), written by Kanae Minato


























"Weak people find even weaker people to be their victims. And the victimized often feel that they have only two choices: put up with the pain or end their suffering in death. But they're wrong. The world you live in is much bigger than that. If the place in which you find yourself is too painful, I say you should be free to seek another, less painful place of refuge. There is no shame in seeking a safe place."

- 'Confessions,' Kanae Minato


- จขบ.ตีความว่าหนังให้ความสำคัญกับไอเดียของปลาใหญ่กินปลาเล็ก ในแง่ที่ว่าการเหยียบคนที่อ่อนแอกว่านั้นทำให้เรารู้สึกว่าสามารถหายใจได้อย่างเต็มปอดมากขึ้น มันเป็นกลไกการป้องกันตัวสำหรับการเอาชีวิตรอดอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่เป็นการตัดสินใจเพื่อความยุติธรรม หรือเพื่อสนองความต้องการตามธรรมชาติ ดูจากเด็กชาย A กับ B ที่ลงเอยเลือกเหยื่อเป็นลูกสาวของโมริกุจิที่อายุเพียงสี่ขวบ หรือนักเรียนในชั้นที่หันมารวมกลุ่มกลั่นแกล้งเด็กชาย A  หรือแม้แต่ฉากเล็ก ๆ อย่างเด็กคนหนึ่งที่ถูกแกล้งเจอผีเสื้อตัวเล็ก ๆ ก็จับมาขยี้

- ในหนังสือก็กล่าวถึงประเด็นนี้เหมือนกันนะ แต่จะเน้นธีมการหนี/ดิ้นรนไปสู่ "สถานที่ปลอดภัยส่วนตัว" มากกว่า เช่น เด็กชาย B ที่พอรู้เรื่องนมผสมเลือดก็เลือกจะอยู่บ้าน หรือตอนที่แม่ของเด็กชาย B เขียนในไดอารี่ถึงปัญหาที่ว่า การที่สังคมมีคำอย่างฮิคิโคโมริอยู่ ก็เหมือนเป็นการให้เนื้อที่ในสังคมกับพวกเขาในฐานะคนอย่างฮิคิโคโมริ ถ้ายอมรับคำนี้ก็อาจจะหมายความว่าไม่ต้องดิ้นรนหาที่อื่นให้ตัวเองอยู่ก็เป็นได้

- แต่หนังกับหนังสือนำเสนอ "สถานที่ปลอดภัย" ที่ถูกทำลายออกมาอย่างชัดเจนทั้งคู่ การทำลาย space/safe place ของตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง ดูว่าหากถูกบีบ แต่ละคนจะพยายามอพยพตัวตน/จิตใจของตนไปอยู่ที่ไหน อะไรแบบนี้เป็นต้น (ว่าไปมันก็ดู Freudian ใช่น้อย เรื่องนี้มีประเด็น Oedipus complex ด้วยนะ อนึ่ง จะเรียกว่าเด็กชาย A และเด็กชาย B มีความดิ้นรนที่จะกลับไปสู่ครรภ์ของมารดาก็ว่าได้ แต่นั่นก็อีกประเด็นใหญ่ ๆ  อ่ะเอิ๊กส์)

- ถ้าเทียบกับหนังสือแล้ว หนังจะแสดงการเปรียบเทียบที่ชัดเจนกว่า เช่นเด็กชาย A นี่เป็นเด็กเก่งเด็กท็อป ส่วนเด็กชาย B นี่ทำอะไรก็ไม่ได้ดี ไม่มีใครสนใจ ไปเรียนกวดวิชายังไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ในขณะที่ในหนังสือเด็กชาย B พยายามแล้วทำได้ดีขึ้นพอสมควรเลย แต่สุดท้ายก็หมดไฟ ยอมแพ้ไป

- การเปรียบเทียบพวกนี้เป็นสไตล์ของการ characterisation ในหนังเลย จะมีทั้งฉากดนตรีที่ตัดไปสู่ความเงียบ น้ำตาที่ตัดไปความสดใส ความหวานกับความขม นมกับเลือด ความมืดกับแสงสว่าง ความเดียงสากับความไร้เดียงสา ความรักกับความว่างเปล่า ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นเสน่ห์ที่น่าดึงดูดที่สุดอย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้

- จากการตีความของจขบ. ในหนังสือจะมีการเปรียบเทียบพวกนี้น้อยกว่า หลายสิ่งจะยังคงเป็นสีเทา ๆ  และไม่ค่อยสะท้อนถึงไอเดีย "ภายนอก vs. ตัวตนที่แท้จริง" ที่ในหนังนำเสนอเท่าไร แต่จะเน้นในเรื่องของการสื่อสารผิดพลาด ทั้งมุมมองของมนุษย์ หรือมุมมองที่นับว่ายังไม่ครอบคลุมของเด็ก (คือการเขียนความเป็นจูนิเบียวหรือมุมมองสุดโต่งให้สะท้อนหลายมุมได้ในเวลาเดียวกันนี่นับว่าเก่งนะ ประทับใจคนเขียนในจุดนี้) หรือวิธีที่มนุษย์เราเลือกที่จะคัดข้อมูลไหนออกเพื่อสร้างบทสรุปให้ตัวเอง มันก็เลยเป็นหนังสือที่นำเสนอหลายแง่มุม และสร้างความขัดแย้งในเรื่องออกมาได้ดี เพราะทำให้คนอ่านเห็นจากมุมของตัวละครแต่ละตัวได้ชัด และตระหนักรู้ไปพร้อม ๆ กันว่า "ที่ตัวละครนี้เห็นอยู่ ก็คือการหยั่งรู้ที่ไม่สมบูรณ์" ก็เลยนำมาซึ่งปัญหาและการเลือกปฏิเสธความคิดหรือความรู้สึกบางอย่างนั้นเอง (จะลากไปตีความปรัชญา "I think, therefore I am." ก็ได้)

- ธีมเด่น ๆ อีกธีมคือ "คุณค่าของชีวิต" แต่จขบ.ยังไม่ได้วิเคราะห์เรื่องนี้ในมุมนี้มากนัก กลับมองว่าแต่ละมุกของคนเขียนเป็นตลกร้ายที่แหย่เรื่องคุณค่าในชีวิตมากกว่า ส่วนใหญ่จขบ.ตีความว่าคนเขียนโยง judgement กับ value ให้ไปพร้อม ๆ กัน คุณค่าของชีวิตของคุณขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณเลือกจะทำ อะไรแบบนี้ :P

- บอกแล้วว่ารีวิวนี้ชิว ๆ  เขียนเพียงเท่านี้ล่ะ อ่ะเอิ๊กส์

No comments:

Post a Comment